การเลือกว่าวิธีใดเหมาะที่สุด ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์และสภาพแวดล้อมของพนักงาน โดยมีข้อแนะนำวิธีการแทรกแซงแบบต่าง ๆ ดังนี้
เบี่ยงเบนความสนใจ – ในกรณีที่เราสังเกตเห็นความผิดปกติ แต่ยังไม่แน่ใจว่าเหตุที่เกิดขึ้น เป็นการคุกคามทางเพศหรือไม่

วิธีการ
-
เข้าไปชวนผู้ถูกคุกคามพูดคุยเรื่องทั่วไป โดยพูดด้วยเสียงดังฟังชัด เช่น ถามว่าจะลงที่ไหน มีที่นั่งว่างด้านหน้านั่งสบายกว่า อยากย้ายไปไหม
-
ทำทีเข้าไปขอตรวจตั๋วทั้งผู้คุกคาม และผู้ที่ถูกคุกคาม แล้วชวนผู้ถูกคุกคามพูดคุย
-
แกล้งทำของหล่นตรงจุดที่คู่กรณีนั่งหรือยืนอยู่ เมื่อเข้าไปเก็บของ ให้ชวนผู้ที่ถูกคุกคามพูดคุย
บอกผู้คุกคามให้หยุดการกระทำ – ในกรณีที่เห็นชัดเจนหรือแน่ใจแล้วว่ากำลังเกิดเหตุคุกคามทางเพศ และประเมินแล้วว่าผู้ที่คุกคามไม่มีท่าทีเป็นอันตราย

วิธีการ
-
เข้าไปหาผู้ที่กำลังคุกคาม มองหน้า และบอกให้หยุดการกระทำ เช่นพูดว่า “คุณนั่งเบียดน้องเขาทำไม ขยับออกมาห่าง ๆ อย่าไปเบียดเขา” หรือ “คุณทำอะไรน่ะ หยุดเดี๋ยวนี้เลยนะ” โดยต้องพูดให้เสียงดังฟังชัด และน้ำเสียงมั่นคง
-
เมื่อพูดกับผู้กระทำแล้ว ให้หันไปถามผู้ที่ถูกคุกคามว่าเขาโอเคไหม อยากย้ายที่นั่งไหม
แจ้งตำรวจ หรือผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง – วิธีนี้ใช้ในกรณีที่ประเมินแล้วว่าการเข้าแทรกแซงเพื่อหยุดเหตุการณ์ด้วยตนเองอาจเป็นอันตราย เช่น ผู้คุกคามมาด้วยกันหลายคนและมีท่าทีก้าวร้าว มีอาวุธ หรือมึนเมาอาละวาด

วิธีการ
-
บอกพนักงานขับรถให้จอดรถที่ป้อมตำรวจจราจร ด่านตำรวจ หรือขับรถไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด แล้วแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาระงับเหตุ
-
โทรแจ้ง 191 ให้ส่งตำรวจพื้นที่มาระงับเหตุ โดยระบุทะเบียนรถ เส้นทาง หรือจุดที่จะให้เข้าช่วยเหลือให้ชัดเจน
-
โทรขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย หรือสถานีวิทยุจราจรที่รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน เช่น สวพ.91 จส.100 ร่วมด้วยช่วยกัน หรือหน่วยกู้ภัยต่าง ๆ เป็นต้น
บันทึกหลักฐาน –ในกรณีที่มีพนักงานหรือผู้โดยสารอื่นเข้าไปช่วยแทรกแซงเพื่อหยุดเหตุคุกคามแล้ว ให้พนักงานหรือผู้โดยสารอื่นที่อยู่แวดล้อมใช้มือถือถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน

วิธีการ
-
ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพนิ่ง หรือจะดียิ่งขึ้นหากถ่ายเป็นคลิปวิดีโอ เพราะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนกว่า
-
เมื่อเริ่มถ่ายวิดีโอ ให้ผู้ถ่ายพูดระบุวันที่ เวลา และพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อบันทึกเสียงไว้ในคลิป สำหรับเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี
-
เมื่อถ่ายวิดีโอ ให้พยายามถ่ายให้เห็นสภาพแวดล้อมของจุดเกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี
-
มอบคลิปวิดีโอให้ผู้เสียหาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการร้องเรียนหรือดำเนินคดี และไม่ควรนำคลิปไปเผยแพร่เองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย